#กว่าจะมาเป็นคุณแม่ฟูลไทม์
วันนี้ได้อ่านบทความของนายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง “วิธีเลี้ยงลูกอย่างสั้นที่สุดและสามขวบปีแรก” แล้วช่วยตอกย้ำให้มั่นใจ ในสิ่งที่ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตตั้งแต่มีพีต้า ใครว่าเป็นแม่ฟูลไทม์ ง่าย – แสนสบาย – ชีวิตน่าอิจฉา จริงๆแล้วหวานคิดไม่มีคำว่าง่าย หรือสบายตั้งแต่ตัดสินใจว่าเราจะเป็น “แม่” แล้วล่ะค่ะ แต่วันนี้ขออนุญาตเล่าในแง่มุมของ “คุณแม่ฟูลไทม์” คนนึงแล้วกันนะ 🙂
•การตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆสำหรับผู้หญิงคนนึงที่เคยทำงาน แต่งตัวสวยงาม ได้เงินเดือนเยอะๆเป็นแสนๆต่อเดือน (ไม่ได้อยากโอ้อวดว่า “เคย” ได้เงินเดือนเยอะนะคะ แต่อยากให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง ว่าเพื่อลูกเราต้องยอมแลก) แล้วต้องลาออกมา “เพื่อเลี้ยงลูก” สำหรับตัวหวานเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยาก ไม่มีใครบังคับ คิดเอง ออกมาจากใจล้วนๆ เพราะคิดว่าลูกคือสิ่งสำคัญที่สุด และไม่มีทางที่จะมีใครเลี้ยงลูกได้ดีเท่า “แม่” แน่นอน แต่การใช้ชีวิตต่อไปในสิ่งที่ตัดสินใจแล้วนี่สิ ยากกว่าเยอะ 🙂
•การปรับตัวปรับใจกับบทบาทใหม่
หลังจากตัดสินใจออกมาจากงานประจำ ก็แอบมีใจหายเบาๆ เพราะต้องต่อสู้กับอุปสรรคตัวสำคัญ นั่นก็คือ “ความคิด” มันก็มีบางแว๊บที่คิดว่าเราเอาเปรียบสามีไปไม๊ ให้เค้าทำงานอยู่คนเดียว เราไม่มีรายได้(เป็นของตัวเอง)แบบนี้มันจะดีเหรอ.. คนอื่นเค้าจะคิดยังไง แต่ซักพักเราก็เริ่มจัดระเบียบความคิดตัวเองก็ได้คำตอบว่า.. เราช่างโชคดีมี “โอกาส” ดูแลลูกด้วยเองแบบเต็ม 100% คำว่า “ครอบครัว” มันคือ “ทีมเวิร์ค” เราต้องทำงานกันเป็นทีม แบบดีที่สุดในจุดที่ยืน ป่าป๊า-ตั้งใจ “ทำงานนอกบ้าน” หาเงินเพื่อครอบครัว หม่าม๊า- ตั้งใจ “ทำงานในบ้าน” ดูแลลูกให้ดีที่สุด (คิดในใจว่าต้องจ้างพี่เลี้ยงด้วยเงินเดือนแค่ไหน ถึงจะเลี้ยงลูกได้ดีเท่าดิชั้น.. เต็มที่ขนาดนี้!! ค่าจ้างเท่าไหร่ก็ไม่พอนะคะ หาไม่ได้แล้วแบบนี้บอกเลย เพิ่มมูลค่าให้ตัวเองสุดๆ 5555555555)
นี่ร่ายมาซะยาว ขออนุญาตนำส่วนหนึ่งของบทความที่โดนใจคุณแม่อย่างแรงืคิดว่ามีประโยชน์ต่อทุกครอบครัว ลองอ่านดูกันนะคะ
“สายสัมพันธ์(attachment)เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเด็กๆ เด็กๆจะทำอะไรดีหรือไม่ดีก็จะคิดถึงพ่อแม่เสมอ จะหลงทางไปหาอบายมุขหรือสิ่งชั่วร้ายใดๆก็รู้จักคิดถึงพ่อแม่ เหมือนตอนที่เป็นวัยเตาะแตะเดินจากไปสามก้าวแล้วรู้จักหันกลับมาดูแม่ว่ายังอยู่มั้ย จะเป็นเด็กดีเชื่อฟังคำสั่งสอนพร่ำเตือนของพ่อแม่ก็ด้วยสายสัมพันธ์นี้ด้วยเช่นกัน บ้านที่สร้างสายสัมพันธ์นี้แน่นแฟ้นแข็งแรงเวลาพูดอะไร สอนอะไร ห้ามอะไร เด็กก็เชื่อ บ้านที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยตนเองพูดอะไรก็ไม่เชื่อ สอนอะไรก็ไม่ฟัง เด็กโตขึ้นใช้ชีวิตเสี่ยง”
“เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะไว้วางใจสิ่งแวดล้อม พัฒนาต่อไป เรียนรู้ว่าโลกนี้มีคุณแม่จริงๆ คุณแม่ไม่สูญหาย เด็กสร้างความผูกพันหรือสายสัมพันธ์กับคุณแม่ที่มีอยู่จริงๆนั้น ความผูกพันแข็งแรง สายสัมพันธ์แน่นหนา ทอดยืดยาวออกมากขึ้นทุกวัน เด็กจะพัฒนาตัวตนของตนเองขึ้นมา ตัวตนของตนเองคือ self ถึงตอนนี้เด็กอายุประมาณสามขวบแล้ว มีตัวตนคือมี self ถึงตอนนี้ไม่ใช่เพียงคุณแม่มีจริง ตัวเองก็มีจริงๆแล้วเมื่อปลายขวบปีที่สามนี้เอง ก็ถึงเวลาแยกตัวตนของตนออกจากตัวตนของแม่”
“จะเห็นว่า Trust,Attachment,Self เรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์สามประการถูกสร้างขึ้นเรียบร้อยในสามขวบปีแรกเท่านั้นเอง จึงว่ากว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”
“ที่ว่าสายเสียแล้วเพราะสามขวบปีแรกเป็นเวลาวิกฤต(critical period) เวลาวิกฤตหมายความว่าหากไม่ทำก็ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่สามารถแก้ตัวได้อีก กล่าวคือในสามขวบปีแรกหากคุณแม่ไม่อุ้ม ไม่กอด ไม่ให้นม ก็จะได้เด็กที่ไม่มี trust ไม่มี attachment และไม่มี self หลังจากสามขวบปีแรกหากคุณแม่อยากจะกลับตัวกลับใจมาเลี้ยงลูกด้วยตนเองก็หมดสิทธิ์ ไม่สามารถทำได้อีก นาทีทองผ่านไปแล้ว”
“เวลาที่มีให้แก่ลูกเป็นเรื่องสำคัญ ปริมาณสำคัญกว่าคุณภาพ เวลาที่มีให้แก่ลูกต้องมาก มีเวลาให้วันละนิดเดียวไม่พอ จะมาอ้างว่าให้เวลาวันละนิดแต่มีคุณภาพก็พอแล้วไม่จริง เพราะปริมาณของเวลาสำคัญกว่าคุณภาพ”
“อะไรๆที่ต้องทำล้วนต้องทำในสามขวบปีแรกทั้งนั้น ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ถูกวางรากฐานตั้งแต่สามขวบปีแรกแล้ว”
เข้าใจว่าชีวิตของแต่ละคนบริบทต่างกัน จะเป็นแม่แบบไหนก็ไม่มีผิดไม่มีถูก เราอาจจะไม่ได้ดีที่สุดระดับโลก แต่ก็แค่ทำให้ดีที่สุดในจุดที่ยืน แต่สำหรับหวานส่วนตัวมีความคิดว่า เราเป็นโลกของเค้าไม่ได้ตลอดไป เราเป็นโลกทั้งใบของเค้าได้แค่ไม่นาน (ตามบทความก็แค่ 3 ปี) แล้วถ้ามันเป็น 3 ปีที่มีความสำคัญต่อ “ทั้งชีวิต” ของลูกมากขนาดนี้ ให้หม่าม๊าต้องแลกด้วยอะไร หรือเสียสละมากแค่ไหน หม่าม๊าก็ยอม 🙂