Happy Tips

วิธีการรับมือเมื่อลูกน้อยกินยาก

วันนี้ขอมาให้กำลังใจคุณแม่ที่มีน้องทานข้าวยากค่ะ พอดีมีคุณแม่ inbox มาปรึกษาเรื่องนี้หลายท่านเหมือนกัน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิค Top Hit ติดชาร์ต ถึงแม้ตัวหวานเองกับพีต้ายังไม่เคยเจอจังๆกับอาการไม่ยอมทานข้าว (อาจจะเป็นเพราะยังไม่ถึงเวลา) แต่มันก็พอจะเข้าใจความรู้สึก เพราะถึงแม้พีต้าจะทานเก่ง แต่ช่วงนี้น้ำหนักขึ้นน้อย ทั้งๆที่น้ำหนักก็ตามเกณฑ์ แม่ยังนอยด์เลย รู้ว่าไม่เป็นไร แต่เรื่องจิตใจมันห้ามยาก อ่ะโน๊ะ!! เลยพยายามบอกตัวเองว่าต้องมีสติ หนทางเลี้ยงลูกยังอีกยาวไกล ปัญหาที่ต้องเจอยังมีอีกมากมาย อย่าไปนอยด์มั่วซั่ว นอยด์ทุกเรื่องเป็นบ้าก่อนลูกโตแน่ๆ ว่าแล้วก็เลยหาข้อมูลมาซับพอร์ทกำลังใจตัวเองและเผื่อแม่แม่ท่านอื่นด้วยเลยดีกว่า 

..จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่าเด็ก อายุ1-3 ปี มีปัญหาการกินประมาณ 35% ส่วนวัย 3 – 5 ปี มีถึง 40% ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่าปัญหาการกินของเด็กช่วงอายุ 4 ปี อยู่ที่ประมาณ 40% —-จากสถิติที่เห็นคุณแม่คนไหนลูกไม่ยอมกินข้าวสบายใจไปได้ 1 เปาะว่า ใครๆเค้าก็เป็นกัน!!!!

ทำไมลูกน้อยไม่ยอมกินข้าว

สาเหตุหลักของการที่ลูกไม่กินข้าวนั้น เริ่มต้นจาก “ความวิตกกังวลมากเกินไปของผู้ปกครองว่าลูกอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ” ซึ่งความวิตกกังวลนี้เกิดจาก “ความไม่รู้หรือเข้าใจผิด” เป็นเหตุสำคัญ อันนำมาสู่การแก้ไขที่ผิดๆ ส่งผลให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้

  •  เข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง พ่อแม่จำนวนมากมีค่านิยมที่ผิด มองว่าเด็กอ้วน (จนเกินเกณฑ์น้ำหนักปกติ) เป็นเด็กแข็งแรง และน่ารัก ทำให้มองเด็กที่น้ำหนักปกติว่าเป็นเด็กผอมเกินไปและพยายามยัดเยียดเรื่องกินมากขึ้
  •  เข้าใจผิดว่าลูกน้ำหนักน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นในชั้นเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กอ้วนในบ้านเราอยู่ถึงร้อยละ 15 – 20
  • ไม่รู้ว่าเด็กหลังอายุ 1 ขวบ จะสนใจการกินน้อยลง ธรรมชาติเด็กอายุขวบปีแรกจะกินเก่งเพราะเป็นช่วงที่เติบโตเร็ว เด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มถึง 3 เท่าตัว จึงมีความต้องการสารอาหารมากตามธรรมชาติและหิวบ่อย กินเก่ง แต่เมื่ออายุ 1 ปี จนถึง 10 ปี จะมีน้ำหนักขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 กิโลกรัมเท่านั้น ร่างกายต้องการสารอาหารน้อยลงเมื่อเทียบกับปีแรกเด็กจึงมีความกระตือรือร้นเรื่องกินลดลง
  • ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วลูกควรกินอาหารปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน และเป็นเรื่องปกติที่เด็กอาจกินน้อยเป็นบางมื้อหรือบางวันที่สำคัญคือความต้องการปริมาณอาหารของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากันซึ่งทั้งหมดขึ้นกับอัตราการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม อัตราการเผาผลาญของร่างกายของเด็กแต่ละคน


และเมื่อเกิดความกังวลว่าลูกได้สารอาหารน้อยเกินไป พ่อแม่จะพยายามหาวิธีแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้วิธีที่ผิดคือ ใช้การดุว่า บังคับ ลงโทษ ใช้การให้รางวัลหรือหลอกล่อให้เพลิดเพลิน จะเห็นได้ว่าการพยายามแก้ปัญหาโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เด็กมีทัศนคติในแง่ลบต่อการกินและไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงมื้ออาหาร โดยธรรมชาติแล้ว เด็กไม่ควรมีปัญหากินยากหรือปฏิเสธการกิน เพราะร่างกายเด็กทุกคนต้องการสารอาหารเพื่อใช้สร้างพลังงานและเจริญเติบโตในแต่ละวัน โดยร่างกายจะมีกลไกกระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้นที่จะกินอาหารคือ เมื่อร่างกายต้องการอาหารเพิ่มเติม ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดต่ำลง สัญญาณนี้จะกระตุ้นไปยัง “ศูนย์ควบคุมความหิว-อิ่ม” ที่อยู่ในสมอง ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กรู้สึก“หิว” นั่นเอง

 แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไรดี

  • ตั้งสติ!! เช็คตามกราฟน้ำหนักและส่วนสูง ถ้าอยู่ในช่วงปกติ ให้รู้ไว้เถิดว่าอย่านอยด์ มันโอเคแล้ว (นี่ตะโกนบอกตัวเองดังๆในใจ) ไม่ต้องสนใจอากงอาม่ายายมียายมา ตาสีตาสาที่มาคอยทักว่าลูกเราตัวเล็ก ฮึบไว้ค่ะ!! คนเป็นแม่ต้องมั่นคงหนักแน่น!!! 
  • อย่าบังคับยัดเยียดให้ลูกกิน ไม่กินก้อไม่กิน ชิลๆ
  • กระตุ้นให้หิวก่อนมื้ออาหาร งดขนมนมเนยทุกชนิด พาออกกำลังกายได้ยิ่งดี และควรทานอาหารเป็นเวลา
  • อย่างที่หม่าม๊าเคยบอกไปว่าต้องฝึกให้ลูก “มีสมาธิ” ในการกินอาหาร ไม่มีอุปกรณ์ของเล่นช่วยเสริม นั่งกินอาหารบนเก้าอี้ประจำตำแหน่ง ไม่เดินตามป้อน ไม่ใช้เวลานานเกินไป และให้ลูกมีส่วนร่วมกับการกินมากที่สุด เช่น ช่วยจับช้อน หรือหยิบอาหารเป็นชิ้นๆเข้าปากเอง เลอะเทอะ เละเทะก็ต้องยอม
  • สังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่ลูกชอบ จัดไปบ่อยๆ หรือเป็น Fanpage Happy Mommy and Baby Peta เราจะสรรหาเมนูแสนอร่อยมาฝากตัวเล็กอย่างสม่ำเสมอค่า อิอิอิ


..สุดท้ายหวานขอยกตัวอย่างเคสใกล้ตัวให้คุณแม่สบายใจแบบเห็นภาพ!! น้องชายหวานสมัยเด็กๆกินยากม๊ากกก!!! อะไรใดใดในโลกก็ไม่เอา กินผักก็ยี้ กินไข่ก็อ้วก แต่ปัจจุบันเติบโตมาด้วยส่วนสูง เกือบ 180 และทุกวันนี้กินทุกอย่างในโลกนี้คร๊าาาาา ใครจาไปเชื่อ!!!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *